วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ควรยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ?

ควรยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ? (บทความพิเศษ)

การยกเลิกมาตรา 112 มีผลทำให้ประมุขของรัฐซึ่งถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองโดยฐานะของตนในทางพฤตินัยไม่ได้รับความคุ้มครองและเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย

ผู้เขียนเป็นนักเรียนโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย รุ่นแรก จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาและเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันยังคงทำงานด้านกฎหมายอยู่ ผู้เขียนเคยได้รับทุนฟูลไบรท์ไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นประเทศประชา ธิปไตยเต็มรูปแบบของโลก เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ ? ซึ่งผู้เขียนขอแสดงความเห็นในด้านกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านทั้งหลายไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ประเทศไทยกำหนดห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และห้ามหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาไว้ในมาตรา 326 ความว่า

 " มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี "

 " มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

ข้อแตกต่างของความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับบุคคลธรรมดาประการแรกก็คือ มาตรา 112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่ารัฐเป็นผู้เสียหายและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ส่วนมาตรา 326 เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวซึ่งถ้าไม่มีผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ดำเนินคดีให้ เหตุที่บัญญัติไว้แตกต่างกันเช่นนี้เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่ประมุขของรัฐจะไปฟ้องร้องกล่าวโทษพลเมืองของตนเอง หากยกเลิกมาตรา 112 ก็เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิประมุขแห่งรัฐไม่ให้สามารถคุ้มครองตนเองจากการถูกหมิ่นประมาทได้

ยิ่งกว่านั้นการ " หมิ่นประมาท " หมายความว่า ใส่ความโดยไม่เป็นความจริงในลักษณะที่ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังเกลียดชังผู้ถูกใส่ความซึ่งเป็นการกระทำอันชั่วร้ายผิดศีลธรรม การยกเลิกมาตรา 112 มีผลทำให้ประมุขของรัฐซึ่งถูกจำกัดสิทธิที่จะคุ้มครองตนเองโดยฐานะของตนในทางพฤตินัยไม่ได้รับความคุ้มครองและเสียสิทธิที่จะปกป้องตนเองในทางนิตินัยไปพร้อมกันด้วย

ข้อ 2.กฎหมายอาญาของไทยเป็นกฎหมายที่มีความเป็นสากล กล่าวคือ ให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐต่างประเทศและผู้แทนของรัฐต่างประเทศด้วยดังจะเห็นได้จากมาตรา 133 และ มาตรา 134 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

" มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

" มาตรา 134 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

ถ้ายกเลิกมาตรา 112 ผลตามกฎหมายก็คือ ประเทศไทยให้ความคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศแต่ไม่คุ้มครองประมุขของตนเองซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัยของอารยประเทศอย่างยิ่ง หากจะยกเลิกมาตรา 133 และมาตรา 134 ไปพร้อมกับมาตรา 112 ผลก็คือประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศป่าเถื่อนในสายตาสังคมโลกและไม่มีประเทศที่เจริญแล้วประเทศใดในโลกคบค้าสมาคมด้วย เพราะไม่ให้เกียรติแก่ประมุขของเขาซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศสูงสุดของประเทศเหล่านั้น

ข้อ 3. ในสังคมระหว่างประเทศมีหลักในการอยู่ร่วมกันข้อหนึ่งคือหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน ( Reciprocity ) กฎหมายของประเทศที่เจริญแล้วในโลกไม่ว่าจะมีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดี หรือเรียกชื่ออื่นใดก็ตาม ย่อมถือว่าประมุขของประเทศใดเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของประเทศนั้น แต่ละประเทศจะให้ความคุ้มครองสูงสุดแก่ประมุขของตนและให้ความคุ้มครองแก่ประมุขของประเทศอื่น เพื่อประเทศอื่นจะได้ให้ความคุ้มครองแก่ประมุขของตนเองด้วยแล้ว ย่อมมีผลทำให้ประเทศไทยต่ำต้อยกว่าประเทศอื่นใดในสายตาชาวโลก

ข้อ 4. ประมุขของประเทศใดก็ตามย่อมถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของประเทศนั้นหากประมุขของประเทศใดไร้เกียรติพลเมืองของประเทศนั้นย่อมต่ำต้อยไร้ค่ากว่าพลเมืองของประเทศอื่นในโลก ถ้าคนไทยยังรักที่จะเป็นคนที่มีเกียรติก็จะต้องรักษาเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศไว้สูงสุดจึงจะทำให้คนไทยมีเกียรติเหมือนพลเมืองชาติอื่นในโลก

ข้อ 5. ประมุขของแต่ละประเทศทั้งที่ได้รับการเลือกตั้งหรือโดยการแต่งตั้งล้วนแต่เป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกขึ้นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ขวัญและกำลังใจของประเทศนั้นๆ ความภาคภูมิใจของพลเมืองในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขได้รับการคัดเลือกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ( Supernatural ) ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการและประกอบคุณงามความดีมาก่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติจึงคัดเลือกให้มาเป็นประมุข

การแก้ไขกฎหมายใดๆ โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบทั้งภายในประเทศและในสังคมระหว่างประเทศ รวมทั้งโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมอาจทำให้บรรลุเป้าหมายด้านผลประโยชน์ของบุคคลบางคนบางกลุ่มแต่ก่อให้เกิดความหายนะใหญ่หลวงแก่ประชาชนส่วนใหญ่และประเทศชาติ


อ้างอิ้ง
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=771250